ข่าวกิจกรรม / สชป.1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา

สชป.1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา

31 ก.ค. 2563

สำนักงานชลประทานที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา
เพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานของโครงการ

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๑ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ ๑ ลงพื้นที่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการฯ โดยมีนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ 
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ตั้งอยู่ที่ 152 หมู่ 2 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 3 อำเภอ จังหวัดลำพูน 2 อำเภอ โดยมีพื้นที่โครงการ 293,000 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 148,400 ไร่ ประกอบด้วยโครงการชลประทานขนาดใหญ่ คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีขนาดความจุเก็บกัก 263 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 4 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา
           ปัจจุบันเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำเก็บ 68.50 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 26.05 % มากกว่าปี 2562 23.92 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2563 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราได้จัดสรรออกเป็น 5 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1). น้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร 2). น้ำเพื่อการเกษตรได้แก่ ข้าว ไม้ผลและไม้ยืนต้น 71 ล้านลูกบาศก์เมตร 3). สำรองไว้สำหรับการระเหยและรั่วซึม 8 ล้านลูกบาศก์เมตร 4). สำรองไว้เพื่อเก็บกักที่ท้องเขื่อน (Dead Storage) 14 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 5). สำรองน้ำที่ใช้การได้ต้นปี 2564 74 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือสำหรับให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินตามจุดต่างๆ สำหรับการบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราได้ใช้ภูมิปัญญาล้านนาแบบมังรายศาสตร์ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งประชาชนจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตามแนวทางของผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา คือ“ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีนำ ทำตามศาสตร์พระราชา ชาวประชามีส่วนร่วม น้ำท่วม-แล้งบรรเทา” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและทำให้ประชาชนได้รับน้ำอย่างทั่วถึง เป็นธรรม 
            หลังจากนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้เน้นการปฏิบัติงานเพื่อผลสัมฤทธิ์เชิงรุก โดยเฉพาะการติดตามและชี้แจงสถานการณ์น้ำเพื่อสร้างการรับรู้สู่ประชาชน จะต้องตรงประเด็นและเข้าใจง่าย ประกอบกับข้อสั่งการของอธิบดีกรมชลประทานให้ทำงานด้วยหลัก “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ สำหรับช่วงบ่าย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๑ พร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่ไปยังอาคารชลประทาน เช่นอาคารแบ่งน้ำ และท่อระบายน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการฯ เพื่อตรวจดูสภาพความพร้อมของอาคาร รวมถึงการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563